ของปลอม หรือของลอกเลียนแบบ เป็นของที่สามารถเห็นได้ตามตลาดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง เข็มขัด นาฬิกา เป็นต้น ผู้บริโภคมักนิยมใช้สินค้าเหล่านี้ ก็ด้วยการออกแบบที่ดูมีระดับ ถือแล้วดูภูมิฐาน แต่มีราคาถูกกว่าของจริงอยู่มาก ซึ่งผู้บริโภคไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นคือ “การละเมิดลิขสิทธิ์” และถือเป็นคดีอาญา
เรื่องและภาพ : วิรงรอง พรมมี ที่มา : saisawankhayanying.com
สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ บริษัทติลลิกีแอนด์กิบบิ้นส์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดนิทรรศการ “Pharmacide Arts & Counterfeit Goods” ขึ้น ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 2 เมษายน – 26 พฤษภาคม 2556
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายของผลิตภัณฑ์ปลอม (สุขภาพ ความปลอดภัย การปลอมแปลงหลายรูปแบบ) , ช่วยเหลือและให้ข้อมูลผู้บริโภคเพื่อป้องกันจากผลิตภัณฑ์ปลอม , ทำความเข้าใจกับสถานการณ์เกี่ยวกับการปลอมแปลง ผลกระทบถึงผู้บริโภค เศรษฐกิจท้องถิ่น เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอื่นๆ , ช่วยเหลือสนับสนุนให้บริษัทเปิดการเจรจาในเรื่องนี้ และสร้างเครือข่ายนักกิจกรรมทั่วภูมิภาคที่ต่อสู้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปลอมแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิพิธภัณฑ์สินค้าปลอมและเลียนแบบของบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบิ้นส์มีสินค้าอยู่ทั้งหมดมากกว่า 4,000 ชิ้น ซึ่งได้ละเมิดเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ สินค้าที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 14 ประเภทใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกาและแว่นตา อุปกรณ์แต่งกาย เครื่องสำอางและน้ำหอม ยา งานลิขสิทธิ์อาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องเขียนและของใช้ในสำนักงาน สุราและบุหรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องมือ อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากสินค้าที่ปลอมแปลงหรือเลียนแบบกันอย่างแพร่หลายแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีสินค้าที่ไม่น่าเชื่อว่าสามารถปลอมแปลงหรือเลียนแบบได้ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ แท่นรองเครื่องยนต์ อุปกรณ์ตัดกระแสไฟ ดินสอ กาว และอาหาร
ภายในนิทรรศการครั้งนี้มีการนำผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นของแท้ และของปลอม มาวางเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า “ผลิตภัณฑ์บางชิ้นดูแล้ว แทบไม่เห็นความแตกต่างว่าชิ้นไหนแท้ ชิ้นไหนปลอม”
วันนี้ดิฉันจึงเก็บภาพผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งของแท้ และของปลอมมาให้ท่านผู้อ่านเปรียบเทียบความแตกต่างกันค่ะ ผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงในนิทรรศการดังกล่าว มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ตลับหมึกพิมพ์ EPSON และ CANON , ตลับลูกปืน NTN , โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม SAMSUNG และ MOTOROLA , กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าสะพาย นาฬิกา แว่นตา GUCCI , ดินสอ (B) STAEDTLER , เครื่องคิดเลข CASIO , กาว UHU , เสื้อ เข็มขัด นาฬิกา LACOSTE , เสื้อกีฬา LOTTO , เสื้อโปโล GANT , เสื้อ Yves Saint Laurent , ตุ๊กตา Angry Birds เป็นต้น
นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ของปลอมของบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบิ้นส์ ที่นำมาจัดแสดงให้ได้ชมในครั้งนี้ ดิฉันจึงอยากให้ท่านผู้อ่านมองลึกลงไปว่า “กว่าจะเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งที่ออกสู่ตลาด นักออกแบบอาจต้องใช้เวลาแรมเดือนหรือแรมปีในการคิด สร้างสรรค์ งานที่จะทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจ และยอมควักกระเป๋าซื้อสินค้าราคาเรือนหมื่น เรือนแสนชิ้นนั้น” การปลอมแปลง ลอกเลียนแบบ ละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นความผิดที่น่าละลายอย่างยิ่ง ดังนั้นนิทรรศการในวันนี้จึงมุ่งรณรงค์ให้ผู้บริโภคเห็นใจเจ้าของผลงาน และตระหนักถึงพิษภัยของ “ของปลอม” นั่นเอง
ของปลอม เปรียบเสมือน “ฝาแฝด” ที่ดูเผินๆ อาจเหมือน หรือคล้ายจนเป็นของชิ้นเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ใช้ ฝีมือการผลิต คุณภาพ ระยะเวลาการใช้งาน ล้วนด้อยกว่าของแท้มากทั้งสิ้น ลองคิดดูดีๆเถอะค่ะว่า หากเรายอมควักเงินในกระเป๋าซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาเรือนหมื่น แล้วใช้ได้หลายปี กับซื้อสินค้าปลอมหลักร้อย แต่ใช้ได้หลายเดือน ผู้บริโภคอย่างคุณจะเลือกแบบไหน? เลิกอุดหนุนตลาดของปลอมเสียตั้งแต่วันนี้ อนาคตสินค้าปลอมก็จะหมดไปเอง เพราะไม่มีผู้ซื้อ ก็ไม่มีผู้ผลิต