พัฒนาการ ของสินค้าปลอม

สินค้าปลอมแปลงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายิ่งแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านการพิมพ์ การสแกนภาพ และการสร้างภาพสามมิติ ทำให้การลอกแบบด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอย (reverse engineering) ง่ายและถูกกว่าแต่ก่อนอย่างมาก แต่นั่นเป็นเพียงสาเหตุข้อแรก อีกสาเหตุหนึ่งซึ่งกำลังทำให้เกิดสินค้าปลอมอีกประเภทคือ การที่บริษัทตะวันตกนิยมจ้างโรงงานในต่างประเทศผลิตสินค้าให้ ซึ่งเท่ากับเป็นการมอบทรัพย์สินทางปัญญาอันมีค่าของตน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ แม่แบบของ สินค้า รายละเอียดของสินค้า และความลับทางการค้า ไปสู่มือของโรงงานและผู้ผลิตรายย่อยนับร้อยนับพันแห่งทั่วโลก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในการที่จะติดตามตรวจสอบผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยเหล่านี้ที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาเกิดการรั่วไหลผ่านรูรั่วนับพันๆ รู
และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสินค้าปลอม ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า “กะที่สาม” (third shift) “กะดึกหรือกะเที่ยงคืน” (night/midnight shift) หรือ “กะผี” (ghost shift) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้รับจ้างผลิตในต่างประเทศ แอบลักลอบผลิตสินค้าของแท้เกินจำนวนที่เจ้าของสินค้าสั่ง หรือที่ตนมีสิทธิ์ผลิต แล้วลักลอบนำส่วนที่เกินนี้ไปขายทาง “ประตูหลัง”
เมื่อบริษัทสหรัฐฯ สั่งผลิตเสื้อ 20,000 ชุดต่อโรงงานในต่างประเทศ โรงงานดังกล่าวอาจแอบผลิตเกินอีก 10,000 ชุด โดยที่บางทีอาจใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำกว่า แล้วแอบนำไปขายทางประตูหลัง สินค้าที่ละเมิดสิทธิ์ นั้นจะมีเครื่องหมายการค้าและรูปลักษณ์ที่เหมือนกับสินค้าของจริงแทบทุกอย่าง เพียงแต่ผลิตโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยเฉพาะถ้าสินค้า “กะที่สาม” นี้เป็นเสื้อผ้า ก็เกือบจะไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากของแท้เลย แม้แต่น้อย
บางครั้งโรงงานในต่างประเทศที่รับจ้างผลิตเพียงบรรจุภัณฑ์และป้ายยี่ห้อ ก็ยังแอบลักลอบผลิตบรรจุภัณฑ์และป้ายยี่ห้อ ซึ่งมีลักษณะ เหมือนกับของจริงทุกประการ แล้วขายให้แก่พวกทำสินค้าปลอม ซึ่งทำให้ ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าปลอมโดยที่บรรจุภัณฑ์และป้ายยี่ห้อเป็นของจริง
สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้าข่ายเป็น third shift นอกจากจะหมายถึงการที่ผู้รับจ้างผลิตในต่างประเทศซึ่งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของแบรนด์ ลักลอบผลิตเกินจำนวนแล้ว ยังหมายรวมถึงการที่เจ้าของ แบรนด์มีคำสั่งให้ผู้รับจ้างผลิตหยุดการผลิตสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง แต่ผู้รับจ้างผลิตกลับไม่ยอมหยุด ปัญหา third shift จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นที่เจ้าของแบรนด์ต้องเผชิญ นั่นคือ การสูญเสียอำนาจการควบคุมทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง จากการว่าจ้างผู้ผลิตรายย่อยๆ จำนวนมากในต่างประเทศผลิตสินค้าให้ตน
แม้แต่เจ้าของแบรนด์เองยังไม่สามารถบอกได้ว่า สินค้าที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตสิทธิ์นั้นเป็นสินค้าที่ปลอมแปลงขึ้น หรือเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตโดยได้รับอนุญาต แอบลักลอบผลิตเกินจำนวน (third shift) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ มากที่เจ้าของสินค้าต้องแยก ออกให้ได้ เนื่องจากผู้พิพากษาในเอเชียบางรายเห็นว่า third shift ถือเป็นของแท้ที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย และอนุญาตให้ขายสินค้า third shift ต่อไปได้ โดยไม่เห็นว่าเป็นการละเมิดเครื่อง หมายการค้าแต่อย่างใด
ดังเช่นกรณีบริษัท Too Inc เจ้าของเชนร้านเสื้อผ้าสตรี Limited Too ฟ้องร้อง TJ Maxx ซึ่งนำเสื้อผ้ามากกว่า 6 แสน 5 หมื่น ชุดของ Limited Too ไปขายในราคาลด โดยพบว่าจำนวนเสื้อผ้าของ Limited Too ที่อยู่ใน สต็อกของ TJ Maxx ยังมีจำนวนมากกว่าที่ Too เคยสั่งให้ผู้รับจ้างผลิตในเอเชียผลิตให้เสีย อีก แต่ Too กลับยอมรับว่า ไม่สามารถแยกแยะ ออกว่า เสื้อผ้ายี่ห้อของตนที่ TJ Maxx ขายอยู่นั้น เป็นสินค้าที่ทำปลอม หรือเป็นสินค้าที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ third shift โชคดีที่ผู้พิพากษาในคดีนี้ตัดสินให้ Too ชนะ แต่ยังคงเห็นว่า third shift เป็นปัญหาละเมิดสิทธิ์ทางปัญญาที่ร้ายแรงน้อยกว่าสินค้าปลอม
เส้นแบ่งระหว่าง Third shift กับสินค้า ปลอมนับวันจะเลือนรางลงทุกที เมื่อเจ้าของแบรนด์สั่งปิดโรงงานรับจ้างผลิต อีกเพียง 2 เดือนต่อมาโรงงานดังกล่าวก็สามารถเปิดขึ้นใหม่ และผลิตสินค้าปลอม ซึ่งแทบจะไม่มีผิดเพี้ยนไปจากสินค้าของแท้ซึ่งตนเคยผลิตมาก่อน และรู้แม้กระทั่งจะซื้อวัตถุดิบที่ไหน และจะขายสินค้านั้นอย่างไร
ในขณะที่ปัญหาการรั่วไหลของทรัพย์สินทางปัญญาก็ทวีความรุนแรงขึ้น Yamaha ได้ร่วมทุนผลิตรถจักรยานยนต์ 3 แห่งในจีน เพียงเพื่อที่จะพบว่า เทคโนโลยีการผลิตของตนถูกแอบนำไปขายให้แก่คู่แข่ง และภายในเวลาเพียง 4 เดือน รถ Yamaha ปลอมก็ถูกนำออกขาย และทุกๆ 6 คันของ Yamaha ที่ขายในจีน จะมี 5 คันที่เป็นของปลอม
บริษัทเคมี เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามชาติ ซึ่งใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในจีน ก็เริ่มเผชิญกับปัญหานี้ ขอเพียงมีวิศวกรจีนเพียงคนเดียวที่ขี้ฉ้อก็สามารถขโมยข้อมูลการวิจัยพัฒนาอันมีค่า บันทึกใส่ USB flash อันจิ๋ว แต่สามารถบันทึกข้อมูลได้มากเป็นกิกะไบต์ ออกไปได้อย่างง่ายดาย ดังที่เกิดกรณีลูกจ้างขโมยขั้นตอนการผลิตสารเคมีชนิดหนึ่ง ออกไป แล้วตั้งธุรกิจแข่งกับเจ้าของเดิม โดยมีอดีตซัปพลายเออร์และลูกค้าของเจ้าของแบรนด์ที่แท้จริง สมรู้ร่วมคิดด้วย และกรณีการขโมยงานวิจัยนาโนเทคโนโลยี หลายกรณีคนที่ขโมยมีดีกรีถึงปริญญาเอก
เจ้าของแบรนด์มักไม่ยอมรับว่าตนกำลังเผชิญปัญหา third shift หรือการรั่วไหลของทรัพย์สินทางปัญญา เพราะรู้สึกอับอายขายหน้าเหมือนเป็นคนโง่ มีเพียงบริษัท New Balance เท่านั้นที่ยอมรับว่า กำลังเผชิญกับปัญหา third shift กับอดีตผู้รับจ้างผลิต ในจีน และได้ตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาลจีน ในขณะที่บริษัทข้ามชาติตะวันตกจำนวนมาก เลี่ยงที่จะฟ้องศาล เพราะกลัวจะเป็นการประจานความผิดพลาด ของตัวเอง หรือทำให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นไม่พอใจ
New Balance เป็นบริษัทรองเท้าอเมริกันซึ่งเพิ่งครบรอบ 100 ปี ในปีนี้ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในบอสตัน และมีโรงงานในสหรัฐฯ 5 แห่ง ซึ่ง ผลิตร้อยละ 25 ของรองเท้าทั้งหมดของบริษัท โดยอีกร้อยละ 70 นั้นได้ว่าจ้างผู้ผลิตในจีน และที่เหลืออีกร้อยละ 5 ว่าจ้างผู้ผลิตในเวียดนาม New Balance มียอดขาย 1.54 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
บริษัทแห่งนี้เริ่มจ้างผู้ผลิตรายย่อยในต่างประเทศให้ผลิตสินค้าตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดยเริ่มที่ญี่ปุ่น จากนั้นไปเกาหลีใต้ และไป ไต้หวัน ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990 ผู้รับจ้างผลิตในไต้หวัน ได้เริ่มย้ายโรงงานไปตั้งในจีน และหนึ่งในผู้รับจ้างผลิตชาวไต้หวันคือ Horace Chang ซึ่งได้ไปตั้งโรงงานในเมือง Yang Jiang ในมณฑลกวางตุ้ง
ในตอนแรก Chang ผลิตรองเท้าให้แก่ New Balance เพื่อส่งออกเท่านั้น แต่ในปี 1995 Chang ได้ขออนุญาตจาก New Balance ให้สิทธิ์เขาจัดจำหน่ายรองเท้าของ New Balance ในตลาดจีนด้วย ซึ่ง New Balance ก็อนุญาต ในช่วงแรกยอดขายในจีนต่ำมาก แต่แล้ว Chang กลับประสบความสำเร็จในการขายรองเท้ารุ่นที่ราคาถูกซึ่งเรียกว่า รุ่น “คลาสสิก” ซึ่งเป็นรองเท้าประเภทที่เรียกว่าเป็นรองเท้าแฟชั่น ที่ตัดเอาเทคโนโลยีการพัฒนารองเท้า อันเป็นลักษณะของรองเท้าคุณภาพสูงออกไป Chang สามารถสร้างยอดขายรองเท้าดังกล่าวได้ถึง 2 แสน 5 หมื่นคู่ในปี 1999 เพียงปีเดียว หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปีก่อนหน้า
แต่ New Balance กลับไม่พอใจ เพราะเกรงว่าชื่อเสียงของบริษัทในจีนจะเสียหาย กลายเป็นเพียงรองเท้า แฟชั่นราคาถูกๆ ซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตรองเท้าคุณภาพสูง จึงสั่งให้ Chang ถอนรองเท้ารุ่นคลาสสิกทั้งหมดออกจากตลาด แต่ Chang ไม่ยอมทำตาม และกลับสั่งวัตถุดิบสำหรับผลิตรองเท้า ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 แสน 5 หมื่นคู่ แถมยังส่งไปขายที่ญี่ปุ่นอีก ทำให้ผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก New Balance ในญี่ปุ่นไม่พอใจ
New Balance ตัดสินใจยกเลิกสัญญา การอนุญาตสิทธิ์ให้แก่ Chang ในการผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้ารุ่นคลาสสิกในปี 1999 ซึ่งตามสัญญา Chang จะต้องส่งคืนความลับทางการค้าทั้งหมดให้แก่ New Balance ตั้งแต่ เทคนิคการผลิต ข้อมูลด้านการขายและการตลาด แม่แบบรองเท้า รายละเอียดคุณสมบัติของรองเท้า รวมถึงป้ายยี่ห้อ บรรจุภัณฑ์ และโฆษณา แต่ Chang ก็ไม่ได้คืน และยังคงขายรองเท้าที่เขาผลิตต่อไป แถมยังพยายามส่งออกไปไต้หวัน ฮ่องกง อิตาลี และเยอรมนี
New Balance ร้องเรียนหน่วยงานที่ดูแลอุตสาหกรรมและการค้าของจีน ซึ่งได้บุกไปยึดรองเท้าของ Chang จากร้านค้าและโรงงานของเขาได้ 1 แสนคู่ แต่ก็กลับทำให้ New Balance ได้ค้นพบด้วยความตกใจว่า Chang ออกรองเท้าที่เป็นคู่แข่งกับรุ่นคลาสสิก โดยติดยี่ห้อของเขาเอง ชื่อว่า Henkees ซึ่งติดโลโกที่อ้างว่าคือคำว่า Hi แต่ไพล่ไปมีหน้าตาคล้ายกับโลโกตัว N ของ New Balance แถมโลโกของ Chang ยังได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นเครื่องหมายการค้าจากทางการจีนด้วย
New Balance อาศัยอำนาจตามที่ระบุในสัญญาที่ทำกับ Chang นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการในแมสซาชูเสตต์ โดยไม่ต้องขึ้นศาลในต่างประเทศ แต่ถึงแม้อนุญาโตตุลาการจะสามารถ ประเมินความเสียหายของ New Balance ได้ แต่ก็ไม่สามารถมีคำสั่งให้ Chang ยุติการขายรองเท้ารุ่นคลาสสิกของ New Balance ได้ ทำให้ New Balance ต้องฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการของ Shenzhen ในมณฑลกวางตุ้ง ในปี 2000 และว่าจ้าง Harley Lewin นักกฎหมายด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาจากนิวยอร์ก ผู้คร่ำหวอดในคดีทำนองนี้ใน 45 ประเทศ มา 30 ปี คอยติดตามดูแลการฟ้องร้องของตนในจีน
Lewin เห็นว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของจีนเขียนไว้ค่อนข้างดี แต่ปัญหาคือการบังคับใช้ และระบบศาลยุติธรรมของจีนที่ยังอ่อนแอ และตกอยู่ใต้อำนาจทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ Lewin เล่าว่า เมื่อศาล Shenzhen มีคำตัดสิน ในปี 2002 ให้ Chang ชนะคดีนั้น เขาสงสัยว่า ศาลจะรับสินบน เพราะ คำตัดสินของศาลฟังดูแปลกประหลาด
โดยศาลระบุว่า New Balance ได้ยกเลิกสัญญาอนุญาตการผลิต ที่ทำกับบริษัทในฮ่องกงของ Chang แต่การยกเลิกนั้นไม่ได้รวมถึงการผลิตที่โรงงานในเมือง Yang Jiang ของ Chang ซึ่งอยู่ในจีน และถึงแม้โรงงานใน Yang Jiang ของ Chang จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายรองเท้าของ New Balance แต่สัญญาที่ New Balance อนุญาต ให้ Chang ผลิตรองเท้า มีความหมายโดยนัยว่า โรงงานดังกล่าวมีสิทธิ์จัดจำหน่ายรองเท้าของ New Balance ที่ตนผลิตด้วย และมีสิทธิ์นั้นแม้จะไม่ได้จ่ายค่าขออนุญาตใช้สิทธิ์ให้แก่ New Balance เลยก็ตาม
Lewin อุทธรณ์คดีต่อศาลสูงมณฑลกวางตุ้งในปี 2002 แต่เรื่องก็เงียบไปนานหลายเดือน แต่แล้วเขาเล่าว่า เขาได้รับการติดต่อจากคนกลางให้จ่ายเงิน 3 แสนดอลลาร์ แล้วศาลจึงจะตัดสินคดีให้ แต่ Lewin ปฏิเสธ Lewin เล่าว่า เขาถูกเรียกร้องเงินทำนองนี้อีกหลายครั้ง และมีการยอมเรียกเงินจำนวนน้อยลง แต่ New Balance ก็ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินทุกครั้ง
จนกระทั่งถึงปลายปี 2003 Lewin อ้างว่า หัวหน้าผู้พิพากษาในคณะผู้พิพากษาซึ่งมี 3 คน ได้ติดต่อ New Balance อีกครั้งโดยผ่านคนกลางที่เปลี่ยนหน้ามาใหม่ และเรียกร้องเงิน 1 แสนดอลลาร์ ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 5 หมื่นดอลลาร์ คราวนี้ New Balance ร้องเรียนเรื่อง การถูกเรียกรับเงินต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของศาลของมณฑลกวางตุ้ง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งถึงกลางปี 2004 New Balance จึงตัดสินใจร้องเรียนให้ศาลเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา โดยไม่แจ้งเหตุผล ซึ่งศาลก็เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ไม่ได้ปลดออกจากตำแหน่ง
ขณะเดียวกันศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในบอสตัน ซึ่ง New Balance ได้ฟ้องร้องให้ดำเนินคดีกับ Chang ไปก่อนหน้านี้ก็ได้มีคำตัดสินออกมาว่า มีหลักฐานชัดเจนและน่าเชื่อได้ว่า Chang ได้ขายรองเท้า ของ New Balance อย่างน้อย 2 แสนคู่ หลัง จากถูกยกเลิกสัญญาจ้างผลิต นอกจากนี้การทำตลาดรองเท้ายี่ห้อ Henkees ของ Chang ยังละเมิดข้อตกลงที่มีอยู่ในสัญญาดังกล่าวอีกด้วย และตัดสินให้ New Balance ได้รับค่าเสียหาย 9.9 ล้านดอลลาร์ แต่จนถึงบัดนี้ New Balance ก็ไม่เคยได้รับค่าชดเชยแม้แต่แดงเดียว
ในที่สุด ศาลสูงมณฑลกวางตุ้งก็มีคำตัดสินในปี 2005 ซึ่งพิพากษายืนชัยชนะของ Chang อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำตัดสินด้วยว่า การยกเลิกสัญญาอนุญาตให้โรงงานในเมือง Yang Jiang ของ Chang ในการผลิตรองเท้า ของ New Balance นั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2001 หรือ 19 เดือนหลังจาก New Balance สั่งยกเลิกสัญญา แต่คำตัดสินอันล่าช้านี้หาได้เอื้อประโยชน์ในทางกฎหมายใดให้แก่ New Balance ไม่
มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของจีนยังตีความคำตัดสิน ดังกล่าวของศาลว่า เป็นการอนุญาตให้รองเท้า ที่ผลิตก่อนวันที่ 27 กรกฎาคม 2001 สามารถนำกลับมาขายได้ จึงได้ปล่อยรองเท้า 1 แสนคู่ที่ยึดมาก่อนหน้านี้คืนให้แก่ Chang ซึ่ง Chang ก็ได้นำออกขายทันที ท่ามกลางความ คับแค้นใจของผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ในจีน ที่เพิ่งได้รับอนุญาตสิทธิ์จาก New Balance อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
New Balance ร้องเรียนขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่เรื่องก็เงียบไปเกือบปี จนในเดือนมีนาคมปีนี้ ศาลจีนจึงได้ยอมพิจารณา คดีใหม่ แต่ก็แทบไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว เพราะรองเท้าของ New Balance ที่ Chang ขายอยู่ในตลาด ก็เหลือน้อยเต็มที และ New Balance เองก็เชื่อว่า Chang ไม่ได้แอบผลิตรองเท้าของตน แต่หันไปให้ความสำคัญกับการทำตลาดรองเท้ายี่ห้อ Henkee ของเขาเองมากกว่า New Balance จึงได้ร้องเรียนต่อสำนักเครื่องหมายการค้าของจีน เพื่อขอให้ยกเลิกโลโกคำว่า Hi ของ Chang ซึ่งคล้ายคลึงกับโลโกของ New Balance อย่างมาก แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจไม่เอาเรื่อง Chang อีกต่อไป
เพราะบริษัทกำลังมีปัญหาใหม่ที่น่าวิตกยิ่งกว่า คู่แข่งรายใหม่ที่เปิดตัวในปี 2005 ซึ่งใช้ชื่อแบรนด์ว่า New Barlun ซึ่งทั้งชื่อแบรนด์ บรรจุภัณฑ์ โลโก การจัดโชว์สินค้า และโบรชัวร์โฆษณา เห็นได้ชัดว่าลอกเลียนแบบ New Balance อย่างโต้งๆ โดยที่ New Balance เองก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการรั่วไหลของทรัพย์สินทางปัญญาของตน หรือเกิดจากการลอกแบบด้วยวิธีวิศวกรรมย้อนรอย
New Balance ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีพยายามติดตามตรวจสอบ supply chain ที่ตนมีอยู่ให้ละเอียดรอบคอบที่สุดเท่าที่จะทำได้ และตรวจสอบประวัติความเป็นมาและความน่าเชื่อถือของผู้ที่จะว่าจ้างให้ผลิต ล่วงหน้า รวมทั้งเขียนสัญญาอย่างรัดกุม และควบคุมให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ New Balance ยังใช้วิธีฝังข้อมูลที่มีการเข้ารหัสไว้ในป้ายยี่ห้อ และติดตามตรวจสอบจำนวนของป้ายที่บริษัทได้ออกไปอย่าง ใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับจ้างผลิตแอบผลิตเกินจำนวนที่สั่ง ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ก็ใช้หมึกหรือสีล่องหนป้ายลงบนสินค้า ซึ่งจะเป็นวิธีที่จะสามารถพิสูจน์ความเป็นของแท้ของสินค้าได้ และเพื่อติดตามตรวจสอบการตุกติกของผู้รับจ้างผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง
บริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งในบอสตันถึงกับผลิตซอฟต์แวร์ที่จะทำให้เจ้าของแบรนด์สามารถติดตามตรวจสอบวัตถุดิบต่างๆ ที่ผู้รับจ้าง ผลิตในต่างประเทศสั่งซื้อเพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งหากสั่งซื้อน้อยเกินไป ก็เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตนั้นอาจแอบปลอมปนวัสดุที่มีคุณภาพด้อยกว่า และถ้าสั่งซื้อวัตถุดิบมากเกินไป ก็อาจเป็นไปได้ว่า จะนำไปใช้ในการลักลอบผลิต third shift
อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญกับปัญหามากมาย แต่ New Balance ก็ไม่เคยคิดจะถอนโรงงานออกจากจีน ความหอมหวนของเศรษฐกิจจีนยังคงมีแรงดึงดูดมหาศาล และที่สำคัญ New Balance คิดว่า ไม่ว่าจะไปตั้งโรงงานผลิตที่ไหนก็ตาม แม้จะไม่ใช่ในจีน ก็คงจะไม่สามารถหนีพ้นการถูกลอกเลียนแบบไปขายในจีนอยู่ดี ดังนั้น ทางที่ดีคือยอมรับความจริง ว่าสินค้าของตนคงต้องถูกเลียนแบบบ้าง และพยายามตรวจสอบและบริหาร supply chain ให้ดีที่สุด
ที่มา :
แปลและเรียบเรียงจาก ฟอร์จูน 15 พฤษภาคม 2549 โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=49580
   

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top