สกัดของปลอมแย่งตลาด-ลูกค้า ปลุกเจ้าของสินค้าตีทะเบียนคุ้มครองแบรนด์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา แนะเจ้าของเครื่องหมายการค้า และตัวแทนสิทธิ เจ้าของแบรนด์ดัง ทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา และโทรศัพท์ แจ้งขอรับคุ้มครอง ณ จุดนำเข้าส่งออก หวังสกัดไม่ให้สินค้าปลอมเล็ดลอดเข้ามาขายในประเทศ หรือใช้ไทยเป็นฐานส่งออก ฟุ้ง! ปีที่ผ่านมาจับกุมได้ 814 คดี ของกลาง 1.21 ล้านชิ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ขอให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสินค้า ทั้งเจ้าของเครื่องหมายการค้า และตัวแทนสิทธิที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แจ้งความจำนง เพื่อขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ณ จุดนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้า เข้ามาจำหน่ายในประเทศ หรือส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับความนิยม ทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริม แผ่นซีดี และดีวีดี เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสกัดกั้นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ประตูหน้าด่านของประเทศ ก่อนที่สินค้าจะกระจายเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ หรือใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งผลการดำเนินการร่วมกับกรมศุลกากร ในปีที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจ มีการจับกุมสินค้าละเมิดได้รวม 814 คดี มีของกลางที่ยึดได้ 1.21 ล้านชิ้น โดยผู้ประกอบการที่ต้องการให้กรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยสินค้าที่ต้องสงสัยว่าละเมิดเครื่องหมายการค้า สามารถแจ้งความประสงค์โดยดาวโหลดแบบฟอร์ม ได้ที่เว็บไซต์กรม คือ www.ipthailand.go.th หรือนำเครื่อง หมายการค้ามาแจ้งรับความคุ้มครองได้ที่กรม ที่สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายทศพลกล่าวว่า การแจ้งรายชื่อ หรือแจ้งรายละเอียดสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบัน สินค้าได้ปรับปรุงพัฒนา และมีรายละเอียดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งการปรับรูปแบบสินค้า การปรับ ดีไซน์ ทำให้มีสินค้าใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น กรมจึงต้องการให้ผู้ประกอบการมีการอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้กรมศุลกากร ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบและป้องกัน โดยมาตรการตรวจจับ ณ จุดนำเข้าและส่งออก เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอก และการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม หรือเลียน แบบเครื่องหมายการค้าผู้อื่น พ.ศ.2530
“กรมยังมีแผนตรวจสอบและจับกุมการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้า ที่มีจำหน่ายตามร้านค้า ตลาดนัด รวมถึงการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่ผ่านมากรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ดำเนินการจับกุมมาโดยตลอด และจะดำเนินการตรวจสอบและจับกุมต่อไป”
ขณะเดียวกัน กรมขอเชิญชวนให้ผู้ที่พบเห็น การจำหน่ายสินค้าละเมิด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในห้าง ในตลาด ในเว็บไซต์ หรือในเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม ฯลฯ แจ้งเบาะแสเข้ามายังกรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหากจับกุมและดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว ผู้ที่แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่งค่าปรับจากคดีด้วย 1 ส่วนจาก 4 ส่วน เช่น เงินค่าปรับ 100% จะแบ่งไว้ 20% ส่งเข้าคลัง อีก 80% จะนำมาแบ่งเป็น 4 ส่วน โดย 1 ส่วน จะมอบให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแส และอีก 3 ส่วน มอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่จับกุม โดยดูหลักฐานจากบันทึกการจับกุม ล่าสุดขณะนี้มีการจ่ายเงินให้กับผู้แจ้งเบาะแสไปแล้วกว่า 100,000 บาท และ เหลือรอการจ่ายอีกนับล้านบาท
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยได้แก้ไขปัญหาที่สหรัฐฯให้ความสำคัญและเป็นกังวลมาอย่างต่อเนื่อง โดย เฉพาะการป้องกันและปราบปรามการละเมิด ไม่ว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดและสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีประสิทธิภาพ
“กรมทรัพย์สินทางปัญญา เตรียมหารือเชิง เทคนิคผ่าน VDO conference กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อรายงานความคืบหน้าแก้ไขปัญหา คาดว่าการหารืออย่างต่อเนื่องระหว่างกันจะส่งผลในทิศทางบวก ช่วยให้สหรัฐฯยกระดับไทยจาก บัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ได้โดยเร็ว”.
ข่าว : ไทยรัฐ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top